ปัญหาสายตาของคนต่าง Gen

อายุเปลี่ยน สายตาก็เปลี่ยนตาม การดูแลสุขภาพดวงตา ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เรามาดูกันว่าแต่ละวัยมีปัญหาสายตาอย่างไร

ช่วงวัย BABY BOOMER (พ.ศ. 2489 – 2507)

คนกลุ่มนี้เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจนคนกลุ่มนี้ขาดการกระตุ้นสายตาและการดูแลสุขภาพช่วงเด็ก อีกทั้งต้องทำงานหนัก จนปัจจุบันกลายเป็นผู้สูงวัย เริ่มพบการเสื่อมถอยของสุขภาพร่างกาย รวมทั้งดวงตาและการมองเห็น คนกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจสุขภาพดวงตาเพื่อหาโรคต่างๆ เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน หรือ โรคจอตาเสื่อม สำหรับการดูแลสายตา แนะนำให้สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสี UV เวลาอยู่กลางแจ้ง สวมใส่แว่นอ่านหนังสือ หรือแว่นขยายเวลามองใกล้ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน และไม่ลืมที่จะตรวจประเมินสายตาตัวเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำสะอาด เพราะการมีสายตาที่ดีนั้นสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การสะดุดหรือหกล้มได้

 

ช่วงวัย GEN X-Y (พ.ศ. 2508 – 2540)

เป็นช่วงวัยทำงานที่มีการใช้สายตาอ่านเอกสารหรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ พบเจอปัญหาพักผ่อนไม่เพียงพอ และมีภาระต่างๆ ทำให้สุขภาพร่างกายและดวงตา อาจใช้งานหนักไปและดูแลไม่ถูกวิธี ดังนั้นจึงควรถนอมดวงตาเป็นพิเศษเพื่อให้มองเห็นได้ดีไปตลอด โดยเริ่มจากการตรวจวัดสายตาเป็นประจำทุกปี การหยอดน้ำตาเทียมเวลาเกิดอาการตาล้า การพักสายตาเป็นระยะหลังจากใช้สายตา การสวมแว่นกรองแสงสีฟ้าเวลาจ้องหน้าจอ การออกกำลังกายกลางแจ้งบ้าง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่น วิตามิน เอ บี ดี สังกะสี เบต้าแคโรทีน โอเมก้า 3 รวมทั้งสารลูทีน และควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลต่อความเสื่อมไวของดวงตา และไม่ลืมพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา ตรวจความเสี่ยงโรคทางตา ซึ่งบางโรคอาจไม่มีอาการ หรือบางโรคสัมพันธ์กับการใช้สายตามากได้ การปัองกันไว้ก่อนจึงดีกว่าการรักษาตอนเป็นมากแล้ว

 

ช่วงวัย GEN Z (พ.ศ. 2540 ขึ้นไป)

เด็กวัยเรียนในยุคนี้มีการใช้สายตาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรียนออนไลน์ร่วมด้วย รวมถึงการเสพสื่อโซเชียลต่างๆ สังคมยุคใหม่อาจทำให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับอุปกรณ์ IT อย่างไม่ถูกต้อง เช่น การจ้องจอเป็นเวลานานจนไม่ได้พักสายตา การเพ่งมองใกล้ไป หรือแสงไฟไม่เหมาะสม โดยพฤติกรรมดังกล่าว อาจส่งผลเสียต่อสายตาและดวงตาได้ และพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาสายตาสั้นและเอียงบ่อยขึ้น รวมทั้งสายตาเปลี่ยนแปลงไวจากการเพ่ง จึงแนะนำให้ตรวจวัดสายตาทุกๆ ปี เพื่อใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาถูกต้อง จะได้ไม่ต้องเพ่งมอง หรือเลือกใช้เลนส์กรองแสงสีฟ้าเวลามองจอสมาร์ทโฟน อีกทั้งการตรวจสุขภาพสายตาอยู่เสมอ ก็สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเป็นโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye) ได้เร็วขึ้น เพราะถ้าสายไปอาจรักษายากขึ้น แนะนำให้ทำกิจกรรมนอกบ้านอื่นๆ เพื่อละจากหน้าจอ

 

GEN Alpha (กลุ่มเด็กเล็ก)

เด็กสมัยนี้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสื่อที่มาจากหลากหลายช่องทาง จนอาจทำให้เด็กๆ เกิดสมาธิสั้นง่ายขึ้น ถ้าพ่อแม่ขาดการดูแลให้เหมาะสม และเนื่องจากเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถพูดคุยปัญหาต่างๆ กับพ่อแม่ได้ จึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เช่น ชอบหยีตามอง มองใกล้ๆ ดูเหมือนตาเหล่ ตาเข ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ตาแดงหรือน้ำตาไหลบ่อย รวมถึงประวัติการคลอดครบกำหนดหรือก่อนกำหนด อาจมีผลต่อความสมบูรณ์ของดวงตาด้วย เด็กกลุ่มนี้ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินความผิดปกติของดวงตาและสายตา โดยเฉพาะโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye)

 

ค้นหาแว่นท็อปเจริญสาขาใกล้บ้าน https://topcharoen.co.th/th/store_locator