โรคตา ยิ่งสูงวัยยิ่งอันตราย

เราใช้ดวงตากันทุกวันไม่เคยมีวันหยุดพัก ซึ่งแน่นอนว่าดวงตาก็เหมือนอวัยวะอื่นๆ ที่มีวันเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ซึ่งหากวันหนึ่งดวงตาคู่นั้นกำลังจะมืดมิดในวัยสูงอายุ เราจะมีวิธีการป้องกันหรือรับมืออย่างไรดี?

โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related Macular degeneration) เกิดจากภาวะเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง เมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้น จะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำอยู่กลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นเราจึงควรคอยวิธีการสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่ามีการมองเห็นที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น ตาพร่ามัวลง ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมองเห็นตรงกลางของภาพไม่ชัดเจน

 

โรคจอประสาทตาเสื่อม AMD แบ่งเป็น 2 ชนิด
1. แบบแห้ง

บริเวณศูนย์กลางจุดรับภาพของจอประสาทตาเกิดการเสื่อมและมีลักษณะบาง ทำให้การมองเห็นค่อย ๆ ลดลง โดยที่อาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ

2. แบบเปียก

พบได้ประมาณ 15-20% ของโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เกิดจากเส้นเลือดผิดปกติที่งอกขึ้นมาใหม่ มีลักษณะเปราะบาง อาจเกิดการรั่วซึม จนทำให้จุดรับภาพบวม มองเห็นภาพบิดเบี้ยว และสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางในที่สุด

 

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานว่ามีวิธีรักษาโรคจอตาเสื่อมตามอายุให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่สามารถชะลอการลุกลามของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เช่น การรับประทานผักและผลไม้จำพวกลูทีนและซีแซนทีนซึ่งมีอยู่มากในผักเขียว จำพวก คะน้า กะเพรา โหระพา ผักกาด ผักสลัดต่าง ๆ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว หน่อไม้ ฝรั่ง ถั่วลันเตา หรือการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ หรือการฉีดยาเพื่อยับยั้งเส้นเลือดใหม่ที่งอกขึ้นมา หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด  

 

การป้องกัน

1. การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป หรือเมื่อพบความผิดปกติของการมองเห็น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีอย่านิ่งนอนใจ เนื่องจากการตรวจพบและรักษาในระยะแรก จะป้องกันการเกิดจุดบอดที่จุดภาพชัดได้   

2. หลีกเลี่ยง ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม AMD

  การป้องกัน
  • การเสื่อมสภาพของร่างกายตามอายุ
ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
  • ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม AMD มาก่อน
ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
  • มีพฤติกรรมการใช้สายตาที่ต้องเผชิญกับแสงแดด หรือ UV นานๆ
ใช้แว่นป้องกันแดดที่มีคุณภาพป้องกันแสง UV ได้ดี
  • การสูบบุหรี่ (ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมถึง 3 เท่า)
ลดความเสี่ยง ไม่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีระดับไขมันในเลือดสูง
ออกกำลังกายดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี